ข้าวฟ่างสมุทรโคดม ชื่อสามัญ Negro Guinea Grass, Millet Grass, Sorghum
ข้าวฟ่างสมุทรโคดม ชื่อวิทยาศาสตร์ Sorghum bicolor (L.) Moench (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sorghum vulgare Pers.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)
ข้าวฟ่างสมุทรโคดม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข้าฟ่างสมุทรโคดม (ชุมพร), ข้าวป้างนก ข้าวป้างหางช้าง (ภาคเหนือ), ข้าวป้างงก (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ข้าวฟ่าง จังหันมะพุด สมุทรโคดม (ภาคกลาง), เข้าป้างหางช้าง มกโคดม มุทโคดม (ภาคใต้), จังหันมะพูด (ไทย), ดั่วป้าง (ม้ง), เพล่เส่อแบ เป่เส่อแบล (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เกาเลี้ยง ฮวงซู่ (จีน) เป็นต้น
ลักษณะของข้าวฟ่างสมุทรโคดม
ต้นข้าวฟ่างสมุทรโคดม จัดเป็นพรรณไม้จำพวกหญ้า ลำต้นมีลักษณะกลม สูงได้ประมาณ 3-4 เมตร ตามบริเวณข้อจะมีขนสั้นสีน้ำตาล ซึ่งมองเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
ใบข้าวฟ่างสมุทรโคดม ใบออกสลับกัน ลักษณะของใบจะแคบเป็นเส้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลมคม บริเวณท้องใบไม่มีขน แต่จะมีผงสีขาวนวล เส้นกลางใบจะแข็ง ส่วนขอบใบและหลังใบจะมีขนสั้น ๆ
ดอกข้าวฟ่างสมุทรโคดม ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
ผลข้าวฟ่างสมุทรโคดม ผลมีลักษณะกลมเท่ากับเมล็ดพริกไทย โผล่พ้นออกมาจากเปลือก ผลแก่จะมีเนื้อแข็ง ผิวภายนอกผลเป็นมัน ส่วนเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลออกเทา และมีแป้งมาก
สรรพคุณของข้าวฟ่างสมุทรโคดม
ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน จะมีรสชุ่ม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงและให้พลังงาน (เมล็ด)
ใช้เป็นยารักษาโรคประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ด้วยการใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมแห้งประมาณ 30 กรัม ผสมกับเหง้าว่านน้ำเล็ก (Acorus gramineus soland.) 15 กรัม, หญ้าปล้องจีน (Juncus effuses L.) 15 กรัม, ใบไผ่ขมจีน (Pleioblastus amarus (Keng) Keng f.) 5 ใบ (จะใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมเพียงอย่างเดียวก็ได้) แล้วนำมาผสมกันต้มกับน้ำกิน (รากแห้ง)
ใช้เป็นยารักษาอาการไอ หอบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาตุ๋นกับน้ำตาลแล้วใช้กรวดกิน (รากแห้ง)
รากสดใช้ต้มกับน้ำกินตอนอุ่น ๆ เป็นยาแก้เจ็บกระเพาะอาหาร หรือเจ็บปวดบริเวณหน้าอก (รากสด)
ใช้เป็นยารักษาโรคอหิวาตกโรค บิด ช่วยฝาดสมานลำไส้และกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เมล็ด)
ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ถ้าสดใช้ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ จะมีรสชุ่ม มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร และช่วยห้ามโลหิต (ราก)[1]
ใช้รักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี ด้วยการใช้เมล็ดแห้งที่คัดเอาสิ่งเจือปนอื่น ๆ ทิ้งออกแล้ว นำมาคั่วจนเหลืองและมีกลิ่นหอม วางผึ่งให้เย็น ก่อนนำมากินควรบดประมาณครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนเด็กที่ระบบการย่อยอาหารไม่ดี ให้ใช้เมล็ดข้าวฟ่างสมุทรโคดมที่แห้งแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาคั่วให้เหลืองและมีกลิ่นหอม และลูกพุทราคั่วจนเกรียมรวมกันบดเป็นผง ใช้กินวันละ 2 ครั้ง (เมล็ด)
ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม หรือรากแห้งประมาณ 15-30 กรัม (ถ้ารากสดใช้ประมาณ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก, เมล็ด)
สตรีคลอดบุตรยาก (ช่วยในการเร่งคลอดทารก) ให้ใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมที่แห้งในที่ร่ม นำมาเผาให้เป็นเถ้าและบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้ารับประทานครั้งละ 6 กรัม (รากแห้ง)
หากสตรีตกโลหิตหลังการคลอดบุตร ให้ใช้รากสดประมาณ 7 ต้น (ประมาณ 30-60 กรัม) ผสมกับน้ำตาลทรายแดงประมาณ 15 กรัม แล้วต้มกับน้ำกิน จะช่วยบรรเทาอาการตกเลือดลงได้ (รากสด)
ขอบคุณแหล่งที่มา https://medthai.com
No comments:
Post a Comment