โกฐเขมา ชื่อสามัญ Atractylodes, Atractylis
โกฐเขมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Atractylodes lancea (Thunb.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Atractylodes lyrata Siebold & Zucc., Atractylis chinensis (Bunge) DC.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
มีชื่อเรียกอื่นว่า โกฐหอม (ไทย), ชางตุ๊ก ซังตุ๊ก (จีนแต้จิ๋ว), ชางซู่ ชางจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของโกฐเขมา
ต้นโกฐเขมา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 30-100 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นร่อง ลำต้นขึ้นเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ไม่แตกกิ่งก้านสาขาหรือแตกกิ่งเฉพาะตอนบน มีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย เหง้าทอดนอนหรือตั้งขึ้น มีรากพิเศษขนาดเท่า ๆ กันจำนวนมาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย มักขึ้นตามทุ่งหญ้าในป่าและตามซอกหิน มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนและแมนจูเรีย ในมณฑลเจ้อเจียง เจียงซี เจียงซู ซานตงเสฉวน เหอหนาน หูเป่ย อันฮุย ฯลฯ โดยแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดคือ มณฑลหูเป่ย ส่วนแหล่งที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ โกฐเขมาจากมณฑลเหอหนาน พืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่หลากหลายทั้งบนเขา หุบเขา หรือที่ราบเขา ต้องการชั้นดินที่หนาและลึก ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง และจะเจริญเติบโตได้ดีมากในบริเวณพื้นดินที่ไม่สูงนักและเป็นดินร่วนปนทราย มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ปี
ใบโกฐเขมา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ลักษณะของใบมีหลายรูปแบบหรือเป็นรูปหอก ขอบใบมีขนครุยหรือหยักเป็นฟันเลื่อย ใบบริเวณกลางต้นมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรี รูปรีแคบ หรือรูปใบหอกกลับ ส่วนใบบริเวณใกล้โคนต้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือหยักแบบขนนก 3-5 แฉก แฉกปลายเป็นรูปกลม รูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรี ส่วนแฉกข้างเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรี ก้านใบสั้น หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีคราบสีขาวเกาะอยู่
ดอกโกฐเขมา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นตามปลายกิ่ง ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ วงใบประดับซ้อนกันแน่นเป็นรูประฆัง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบประดับมีประมาณ 5-7 แถว ขอบมีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย ปลายใบ โดยใบประดับวงในจะมีลักษณะเป็นรูปรีถึงรูปแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร ส่วนใบประดับกลางจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรีหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และใบประดับที่อยู่วงนอกจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ปลายใบประดับในสุดอาจมีสีแดง ด้านบนของฐานดอกแบน มีเกล็ดหนาแน่น ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกเพศเมียที่มีเกสรเพศผู้ลดรูป กลีบเลี้ยงเป็นขนสีน้ำตาลถึงขาวหม่น มี 1 แถว โคนติดกันเป็นวง ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร ปลายเป็นหยัก 5 หยัก เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดที่หลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียจะสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นสามเหลี่ยม มีขนนุ่ม เกสรเพศเมียจะแยกเป็น 2 แฉก
ผลโกฐเขมา ผลเป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ออกดอกและเป็นผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม
เหง้าโกฐเขมา เหง้ามีลักษณะค่อนข้างกลมหรือยาวเป็นรูปทรงกระบอก หรืออาจมีแง่งยาวแยกออกไปบ้าง มีความยาวได้ประมาณ 3-10 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวมีลักษณะขรุขระ เป็นปุ่มปม เปลือกนอกคล้ายผิวมะกรูด มีสีน้ำตาลอมเทา สีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลแกมดำ มีรอยย่นและรอยบิดตามขวาง เนื้อในแน่น เมื่อฝานหัวออกใหม่ ๆ จะเป็นสีขาวขุ่นที่เนื้อใน และมีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ประปรายทั่วไป มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสหวานอมขมเล็กน้อย และเผ็ดร้อน โดยเหง้าใต้ดินนี้จะเรียกว่า "โกฐเขมา" เมื่อนำมาดองกับเหล้าจะทำให้ยาดองเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม
หมายเหตุ : ในวงศ์ของโกฐเขมา จะมีหลายพันธุ์ เช่น Atractylodes lancea Sieb .et Zucc., A. ovata DC., A. chinensis DC. ซึ่งเหล่านี้เป็นตระกูลเดียวกันแต่จะต่างพันธุ์กัน ส่วนมากพบทางภาคเหนือของประเทศจีน สามารถนำมาใช้แทนกันได้
สรรพคุณของโกฐเขมา
เหง้าโกฐเขมามีรสเผ็ดขมหอม เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร
ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก แก้เหงื่อออกมาก แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง แก้ลมตะกัง
ใช้เป็นยาแก้หอบหืด ช่วยระงับอาการหอบคล้ายยาอีเฟรดริน
ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยขับเสมหะ ขับพิษเสมหะ
ใช้เป็นยาแก้โรคในปากในคอ โรคในปากในคอเป็นแผลเน่าเปื่อย
เหง้าใช้เป็นยาขับลม ขับลมชื้นในกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกแน่น ช่วยย่อยอาหารในกระเพาะ และช่วยแก้เสียดแทงสองราวข้าว
ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง
ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ใช้เป็นยาแก้โรคเข้าข้อ แก้ขาปวดบวม ขาไม่มีแรง ปวดข้อ
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน ระบุว่า โกฐเขมานั้นมีฤทธิ์ขับลมและความชื้น, แก้ความชื้นกระทบส่วนกลาง (เบื่ออาหาร อาเจียน อึดอัดลิ้นปี่ จุกเสียด ท้องเสีย), ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดจากลมเย็นหรือความชื้น (จับไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว), ช่วยเสริมระบบการย่อยอาหาร และแก้อาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ
แพทย์แผนโบราณของจีนจะนิยมใช้โกฐเขมามาก ใช้เข้ายาจีนหลายขนาน ตำรายาจีนจะใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้ปวดข้อเนื่องจากข้ออักเสบ แก้อาการบวม (โดยเฉพาะอาการบวมที่ขา) แก้หวัด และแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน โดยใช้ในขนาดประมาณ 3-9 กรัม นอกจากนี้ยังใช้โกฐเขมาเข้ากับยาอีกหลายตัว เป็นตำรายาแก้ตับอักเสบด้วย
ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐเขมารวม 2 ตำรับ คือ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม มีปรากฏในตำรับ "ยาหอมเทพจิตร" และตำรับ "ยาหอมนวโกฐ" ที่มีส่วนประกอบของโกฐเขมาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง และในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบอาหาร มีปรากฏการใช้โกฐเขมาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ "ยาธาตุบรรจบ" ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ช่วยแก้อาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
โกฐเขมาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า "พิกัดโกฐ" โดยโกฐเขมานั้นจัดอยู่ใน "โกฐทั้งห้า" (เบญจโกฐ), "โกฐทั้งเจ็ด" (สัตตโกฐ) และ "โกฐทั้งเก้า" (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้สะอึก แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก
ขนาดและวิธีใช้ ให้ใช้เหง้าครั้งละ 5-12 กรัม นำมาต้มกิน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา
การเตรียมตัวยาโกฐเขมาให้พร้อมใช้
วิธีที่ 1 โกฐเขมาแห้ง เตรียมโดยการนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาแช่ในน้ำสักครู่ ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปใส่ในภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม นำมาหั่นเป็นแว่นหนา ๆ แล้วนำไปทำให้แห้ง
วิธีที่ 2 โกฐเขมาผัดเกรียม จะมีรสเผ็ด มีฤทธิ์ช่วยให้การทำงานของลำไส้แข็งแรง แก้ท้องเสีย ช่วยรักษาอาการท้องเสียเนื่องจากม้ามพร่อง และโรคบิดเรื้อรัง ให้เตรียมโดยการนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 นำมาใส่ในกระทะ ผัดโดยใช้ไฟปานกลางจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีน้ำตาลไหม้ จากนั้นพรมน้ำเล็กน้อย แล้วผัดต่อโดยใช้ไฟอ่อน ๆ จนตัวยาแห้ง แล้วนำออกจากเตาและทิ้งไว้ให้เย็น เสร็จแล้วก็ร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก
วิธีที่ 3 โกฐเขมาผัดรำข้าวสาลี จะช่วยเพิ่มฤทธิ์ให้การทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารดีขึ้น ช่วยรักษาอาการของม้ามและกระเพาะอาหารทำงานไม่สัมพันธ์กัน แก้เสมหะเหนียวหนืด แก้ต้อหิน และแก้โรคตาบอดกลางคืน ให้เตรียมโดยนำรำข้าวสาลีมาใส่ลงในภาชนะที่เหมาะสม ให้ความร้อนโดยใช้ไฟปานกลางจนกระทั่งมีควันออกมา ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ลงไป แล้วคนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งผิวของตัวยาเป็นสีเหลืองเข้ม จากนั้นนำออกจากเตา แล้วร่อนเอารำข้าวสาลีออกและตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐเขมา
เหง้าโกฐเขมามีองค์ประกอบเคมีเป็นน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 3.5-5.6% ในน้ำมันระเหยง่ายจะประกอบไปด้วยสารสำคัญ คือ Atractylon, Atractylodin, β-Eudesmol, Elemol, Hinesol, สารกลุ่ม Polyacetylene, Coumarin และยังพบวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินดี และกลูโคส เป็นต้น
โกฐเขมา มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดอุณหภูมิกาย ลดความดันโลหิต
เมื่อนำน้ำต้มของโกฐเขมามาป้อนให้กระต่ายเป็นเวลา 10 วัน พบว่าน้ำตาลในเลือดของกระต่ายลดลง เมื่อหยุดยาก็ไม่พบว่าน้ำตาลในเส้นเลือดของกระต่ายจะเพิ่มขึ้น
เมื่อนำน้ำที่ได้จากการต้มโกฐเขมา มาฉีดเข้าหัวใจของคางคก ก็พบว่าการเต้นของหัวใจอ่อนลง หรือฉีดยาเข้าเส้นเลือดใหญ่ของคางคก พบว่าเส้นเลือดของคางคกจะมีการขยายตัวเล็กน้อย
จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากเหง้าโกฐเขมาด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 1,786 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ
ขอบคุณแหล่งที่มา https://medthai.com
No comments:
Post a Comment